นับตั้งแต่วันที่ทรงขึ้นครองราชย์เป็นต้นมา เป็นเวลากว่า 60 ปีแล้ว ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นธรรมราชา และทรงปฏิบัติพระราชภารกิจ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนมาอย่างต่อเนื่องจวบจนถึงปัจจุบัน
พระราชภารกิจการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
มีมากมาย ครอบคลุมในทุกด้านทั้งด้านการศึกษา ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม การเกษตร สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ
โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา ทรงพระอุตสาหะปฏิบัติกิจการอันเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองและประชาชนโดยอเนกประการ โดยได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในทั่วทุกภูมิภาค ทุกพื้นที่ของแผ่นดินไทยที่ทรง เสด็จพระราชดำเนินไปถึง
ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ นับเป็นโอกาสอันดีที่เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้มีโอกาส
ไปร่วมในงานปาฐกถาพิเศษ 84 พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา ที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงาน
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (สำนักงาน กปร.) เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2554 ณ บางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทารา แอท เซ็นทรัลเวิลด์
เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2554
ในงานสัมมนาดังกล่าว คณะผู้จัดได้เรียนเชิญ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ศูนย์ศึกษาการพัฒนา
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" และ เรียนเชิญนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ในหลวงกับการพัฒนา" รวมทั้งเรียนเชิญ นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และที่ปรึกษาสำนักงาน กปร.กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งเปรียบเสมือน
ธรรมปฏิบัติ เป็นสิ่งที่ง่ายที่ทุกคน ทุกระดับสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน บนหลักความพอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน และมีความรู้คู่คุณธรรม
ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านครับ ในวันนี้ เพื่อเป็นการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทจากพระราชกรณียกิจแลพระมหากรุณาธิคุณ
ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย
ผมขอนำเสนอเกี่ยวกับประเด็นการกล่าวปาฐถาพิเศษ เรื่อง "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ที่ได้เรียนรู้จาก
นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี และประธานเปิดงาน ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ครับ
นับตั้งแต่ที่ทรงขึ้นครองราชย์ ตั้งแต่ปี 2493จนถึงปี 2510-2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ
เสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรในหลายภูมิภาค ทุกปี ปีละประมาณ
6 เดือน เพื่อทรงงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยบางโครงการก็เป็นโครงการที่ริเริ่มใหม่ บางโครงการก็เป็นโครงการต่อเนื่อง หรือเป็นการขยายผลต่อจากโครงการที่ประสบผลสำเร็จมาบ้างแล้ว
โดยโครงการและงานส่วนใหญ่นั้น ดำเนินการร่วมกับ กรม กอง และมหาวิทยาลัยต่างๆ ครอบคลุมหลากหลายประเด็น ได้แก่ อาหาร การเกษตร และสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อมุ่งหาวิธีการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของอาหาร และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
ดังจะเห็นได้จากลักษณะงานที่ได้ดำเนินการตามสถานีทดลอง ศูนย์วิจัย ทั้งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบและที่สูง ในเขตน้ำจืดหรือน้ำเค็มทั่วประเทศ
ตลอดระยะเวลาที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการประสานงานของหน่วยราชการต่างๆ และทรงตระหนักถึงแนวทางการดำเนินงานที่ควรปรับปรุง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา
อันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ต่างๆ ตามความหลากหลายของสภาพภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมในพื้นที่ต่างๆ ที่ศูนย์นั้นๆ ตั้งอยู่ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 6 แห่ง ในภูมิภาคต่างๆ ดังนี้
- ศูนย์ฯ แห่งแรก คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2522 เพื่อแก้ไขปัญหาป่าและดินเสื่อมโทรม
- ศูนย์ฯ แห่งที่สอง คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2524เพื่อแก้ไขปัญหาดินพรุ ดินเปรี้ยว
- ศูนย์ฯ แห่งที่สาม คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2525 เพื่อแก้ไขปัญหาดินเค็ม ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพชายฝั่ง
- ศูนย์ฯ แห่งที่สี่ คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจาก
พระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2525 เพื่อแก้ไขปัญหาดินเสื่อมโทรม และการตัดไม้ทำลายป่า
- ศูนย์ฯ แห่งที่ห้า คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2525เพื่อแก้ไขปัญหาป่าเต็งรังเสื่อมโทรม
- ศูนย์ฯ แห่งที่หก คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2526เพื่อแก้ไขปัญหาดินเสื่อมโทรม และปัญหาการปลูกพืชไม่ได้ผล
วัตถุประสงค์การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทั้ง 6 แห่ง ได้แก่
ประการที่หนึ่ง เพื่อเป็นสถานที่ค้นคว้าศึกษาวิจัย (ศึกษา ทดลอง) ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ (สภาพดินฟ้า อากาศ เศรษฐกิจ สังคม เผ่าพันธุ์ ฯลฯ) โดยมุ่งเน้นทำงานง่ายๆ ตามลำดับความสำคัญ ส่วนงานที่ยากหรือเป็นงานประเภทวิชาการระดับสูงให้อาศัย
ศูนย์หลักของกรมต่างๆ
ประการที่สอง เพื่อสนับสนุนให้มีการประสานงานกันระหว่างราชการแบบบูรณาการ (ทั้งในด้านเกษตร สังคม การส่งเสริมการศึกษา การสาธารณสุข ฯลฯ ภายในกระทรวง หรือ ภายในกรมเดียวกัน) โดยทำงานร่วมมือ ผสานกัน สอดคล้องกัน
ประการที่สาม เพื่อเป็นศูนย์สาธิตการพัฒนาเบ็ดเสร็จ หรือ เป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จ และเป็น พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต
ที่เปิดให้ประชาชนสามารถเข้ามาศึกษา และเรียนรู้เพื่อการพัฒนา
อาชีพของตน หรือ ศึกษาอาชีพใหม่ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์
โดยมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ เป็นผู้ให้คำแนะนำได้ทันทีและตลอดเวลา
ประการที่สี่ เพื่อเป็นศูนย์การบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว
(One Stop Service) ประการที่ห้า เพื่อให้สามารถนำผลสำเร็จไปขยายผลยังพื้นที่ใกล้เคียง ในพื้นที่อื่นๆ ที่มีปัญหาหรือสภาพพื้นที่
คล้ายคลึงกัน เช่น เป็นดินพรุ ป่าชายเลน ป่าเต็งรัง หรือ ป่าเสื่อมโทรม เป็นต้น
การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ นั้น มีลักษณะเป็นศูนย์วิจัยพัฒนาตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระตำหนักส่วนกลางและในภูมิภาคเป็นศูนย์อำนวยการ ดังนี้
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
มีพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน (กรุงเทพฯ) เป็นศูนย์อำนวยการ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
มีพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ (นราธิวาส) เป็นศูนย์อำนวยการ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
มีพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน (กรุงเทพฯ) เป็นศูนย์อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีพระราชตำหนักภูพานราชนิเวศน์ (สกลนคร) เป็นศูนย์อำนวยการ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
มีพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ (เชียงใหม่) เป็นศูนย์อำนวยการ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีพระราชวังไกลกังวล (ประจวบคีรีขันธ์) เป็นศูนย์อำนวยการ
ตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเยี่ยมเยียนราษฎรและทอดพระเนตรกิจการของศูนย์ศึกษาการ
พัฒนาฯ เสมอมา หมุนเวียนกันไปตลอดเวลา ในบางปีก็เสด็จไปเยี่ยมเยียนศูนย์ฯ มากกว่า 3 แห่ง โดยทรงมีพระราชดำริในเรื่องต่างๆ ของแต่ละศูนย์ฯ แตกต่างกันไปตามสภาพภูมิประเทศ โดยทรงคำนึงถึงปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของศูนย์ฯ แต่ละแห่งด้วย
ทั้งนี้ มีหลายโครงการฯ ที่ดำเนินการตามพระราชดำริและพระราชดำรัสจนประสบผลสำเร็จด้วยดี จนสามารถนำไปใช้ขยายผลในพื้นที่หรือต่างพื้นที่ที่มีสภาพปัญหาและสภาพภูมิประเทศที่คล้ายคลึงกันได้ ส่วนโครงการใดที่ไม่ประสบผลสำเร็จ ก็ทรงมีพระราชดำรัสให้เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ปรับปรุงแก้ไขตามพระราชวินิจฉัย ศึกษาผลการดำเนินงานจากผลงานและรายงานต่างๆ ที่ศูนย์ฯ เก็บไว้เป็นหลักฐานประกอบการพัฒนางานต่อไป
จนกระทั่งปี 2532 ขณะที่ทรงมีพระชนมายุได้ 62 พรรษา หลังจากที่ทรงเริ่มเสด็จไปทรงงานทั่วประเทศ นับเป็นปีที่ 10 ของการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ โดยในศูนย์แห่งแรก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำแนวคิด ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและพระราชประสบการณ์ที่ทรงสั่งสมมาตลอดเวลามา
ประยุกต์เป็น เกษตรทฤษฎีใหม่ ให้ประชาชนใช้เป็นแนวทางประกอบอาชีพเกษตรกรรมในทั่วทุกท้องถิ่นของประเทศ ทั้งในเขตใช้น้ำฝนและเขตชลประทาน ซึ่งก็ได้รับการยอมรับและขยายผลไปยังภูมิภาคต่างๆ อย่างรวดเร็ว
นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี สรุปผลการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ตั้งแต่ปี 2522 – 2553 ไว้ดังนี้
เรื่องการอนุรักษ์ป่าและฟื้นฟูป่า ได้ปลูกไม้ 3 อย่าง เพื่อประโยชน์
4 อย่าง ทำฝายชะลอความชุ่มชื้น ทำระบบก้างปลา แนวป่าเปียก และการป้องกันไฟป่า เป็นต้น เรื่องการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำ ได้สร้างอ่าง สระเก็บน้ำขนาดเล็ก ฝายขนาดเล็ก และการกำจัดน้ำเสีย เป็นต้น
เรื่องการอนุรักษ์ดินและบำรุงผืนดิน ได้ดำเนินโครงการแก้มลิง ปรับปรุงดินเปรี้ยว ดินเค็ม การทำขั้นบันได การปลูกหญ้าแฝก
การบำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยพืชสดและอินทรียวัตถุ และการกำจัดขยะ เป็นต้น เรื่องการสร้างอาชีพและผลิตอาหาร ได้ส่งเสริมแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ ระบบสหกรณ์ ตลอดจนส่งเสริมการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆ รวมถึง
การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การเลี้ยงโคนม สัตว์น้ำและสัตว์เล็กต่างๆ เป็นต้น เรื่องการผลิตพลังงานทดแทน ได้ทดลองและขยายผลการใช้พลังงานจากพืช ปาล์มน้ำมัน สบู่ดำ พลังงานจากน้ำ ลม และแสงแดด เป็นต้น
แนวทางการดำเนินงานในอนาคตของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ
ทั้ง 6 แห่ง นั้น ในด้านการบริหารงาน จะมีมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเป็นมูลนิธิส่วนพระองค์ มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์ และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ทรงงานอย่างคล่องตัว และมีบุคลากรบางส่วนจากสำนักงาน กปร. ไปช่วยดำเนินโครงการต่างๆ ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงริเริ่มขึ้นใหม่ ตามพระราชวินิจฉัย และควรขยายศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ เพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้งประเทศ
ในด้านการวิจัยและพัฒนา จะยึดแนวทางการดำเนินงานตามแนว
พระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแนวทาง พร้อมกับ
มุ่งปรับปรุงการดำเนินงานตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตน
ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตลอดจนจะปรับปรุงเพิ่มเติมการดำเนินงานตามความเห็นคณะกรรมการฯ ระดับต่างๆ โดยไม่ให้ซ้ำซ้อนกับงานของกรมที่รับผิดชอบหลักหรืองานที่เป็นงานพื้นฐานเกินไป
รวมทั้ง จะเน้นส่งเสริมกรมหลักหรือสถาบันวิจัย ศูนย์วิจัยเฉพาะทาง เป็นผู้รับผิดชอบทำงานวิจัยพื้นฐานหรืองานวิจัยด้านการศึกษา
เป็นสำคัญ โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ จะมุ่งทำงานวิจัยเชิงประยุกต์ หรือเน้นทำงานต่อยอดจากงานวิจัยขั้นพื้นฐาน งานวิจัยด้านการศึกษาจากกรมหลัก สถาบันวิจัย หรือศูนย์วิจัยเฉพาะทาง เท่านั้น และจะเน้นถ่ายทอดผลงานวิจัยหรือขยายผลงานวิจัยให้มากขึ้นตามอัตรากำลังและขีดความสามารถของบุคลากรในศูนย์ศึกษาการ
พัฒนาฯ ให้มากขึ้น
ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ จะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอุตสาหะปฏิบัติกิจการอันเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองและประชาชนโดยอเนกประการ ด้วยพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นพัฒนาหวังให้พสกนิกรชาวไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในฐานะที่ได้เกิดมาภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ผมขอเชิญชวนท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านร่วมเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับงานด้านการพัฒนา ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่เปรียบมิได้
พระบารมีปกเกล้าฯ / ดร.สุทิน ลี้ปิยะชาติ
นำบทความนี้มาจาก บันทึกของ คุณกฤญญ์ รักในหลวง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น