วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ภูมิพล ในหลวง พ่อของแผ่นดิน


‎"นักการเมืองยื่นปลา พระราชายื่นเบ็ด"

"นักการเมืองยื่นปลา" คือลักษณะการทำงานของนักการเมืองที่มักจะหยิบยื่นและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนนิยม "อันเป็นลักษณะธรรมชาติทั่วไปของนักการเมืองทุกชาติทุกภาษา" แต่การยื่นปลานั้นไม่ใช่การสร้างถนน สร้างไฟฟ้า สร้างปะปา หรือสาธารณูปโภค การยื่นปลาที่ว่าหมายถึง "นโยบายประชานิยม" ไม่ว่าจะแจกของ แจกเงิน ขึ้นเงินเดือนค่าแรง สร้างรถไฟฟ้าตามใจนักการเมืองโดยไม่คำนึงถึงปริมาณความจำเป็นที่แท้จริงของประชาชน เป็นต้น

นโยบายประชานิยมเป็นที่น่ารังเกียจของนักวิชาการมาทุกยุคทุกสมัยกลับกลายเป็น "นโยบายหลัก" ในการหาเสียงกับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ การยื่นแต่ปลาให้กับประชาชนคือการสร้างความรวดเร็วในการพัฒนาประเทศและตักตวงซึ่งคะแนนนิยม การหยิบปลาจากแม่น้ำใส่มือประชาชนที่มาขึ้นทุกๆวันนี้ก็คงจะทำให้ "ปลา" หมดไปจากแม่น้ำในเร็ววัน เพราะเท่าที่ผมสังเกตดูแล้วรัฐบาลหลายรัฐบาลไม่ได้ใส่ใจที่จะเพาะพันธุ์ปลา แต่คิดจะตักปลาในแม่น้ำใส่มือประชาชนอย่างเดียว ซึ่งแตกต่างกับวิถีการทรงงานของพระราชาที่ทรงเพียรทำมาโดยตลอดหกสิบกว่าปี อันเป็นที่มาของคำว่า "พระราชายื่นเบ็ด"

"พระราชายื่นเบ็ด" คือลักษณะการทรงงานของในหลวงคือ "ยื่นเบ็ดตกปลา" ให้ประชาชนแล้วสอนว่าต้องตกปลาอย่างไร ลักษณะการทรงงานแบบนี้ต้องใช้เวลา เห็นผลช้า และประชาชนไม่นิยม อีกทั้งไม่เป็นที่ใส่ใจและน้อมนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ลักษณะงานแบบพระราชายื่นเบ็ดนี้ยังเป็นการ "ถนอม" ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรบุคคล รวมทั้งงบประมาณแผ่นดินได้อย่างมหาศาล สังเกตได้จากลักษณะโดยทั่วไปของโครงการตามพระราชดำริของในหลวงซึ่งจะเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้งบประมาณที่จำกัด แต่กลับได้ผลเกินคาด ซึ่งเราจะหาโครงการแบบนี้ตามโครงการของรัฐบาลไม่ได้สักโครงการเดียว

"พระราชายื่นเบ็ด" นี้ต้องอาศัยความต่อเนื่องของการติดตามโครงการกินเวลานาน โครงการตามพระราชดำริ(ด้านการเกษตร-ปศุสัตว์)บางโครงการต้องใช้เวลาเป็นสิบปีเพื่อพิสูจน์ความเป็นจริงตามพระราชดำรัสที่ทรงให้ไว้ตั้งแต่เริ่มโครงการ ประชาชนหลายๆแห่งแม้อยู่ต่อหน้าพระพักตร์รับทุกอย่าง แต่เมื่อลงมือปฏิบัติจริงกลับเกิดคำถามในใจ "จะสำเร็จจริงหรือ" ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าใจในความคิดนี้ของประชาชน ทรงเน้นย้ำให้ข้าราชการและหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องติดตามผลและรายงานผลให้พระองค์รับทราบตลอดเวลา จนกระทั่งผ่านไปหลายปีเมื่อโครงการตามพระราชดำริสำเร็จ ประชาชนที่เคยคิดว่า "จะสำเร็จจริงหรือ" ก็กลับกลายเป็น "น้ำตาของความดีใจ" ทันทีที่หวนนึกถึงและรู้สึกดีที่อดทนพิสูจน์พระราชกระแสรับสั่งที่เคยให้ไว้เมื่อหลายปีก่อน

แต่การทำงานของ "รัฐบาล" นั้นมีเวลาจำกัด และต้องอยู่ในสถานะที่ได้รับความนิยมจากประชาชนโดยตลอด ทำให้ลักษณะการทำงานออกมาในแนวทางของการ "ยื่นปลา" ซึ่งรวดเร็ว และประชาชนก็ชื่นชอบ ไม่ต้องรอเป็นสิบๆปี แต่กระนั้น "ความไม่ยั่งยืน" ก็จะถามหาภาคประชาชน ความไม่ยั่งยืนที่ว่าพร้อมทำลาย "รากฐาน" ของประเทศไทย นั่นคือ "เกษตรกรรม" ได้อย่างรวดเร็ว เพราะเท่าที่ผมสังเกตมาในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาแทบจะไม่มีรัฐบาลไหนที่ให้ความสำคัญกับ "น้ำมันบนดิน" หรือภาคการเกษตรซึ่งเป็นรากฐานของประเทศไทยมาตั้งแต่ยังเป็นกรุงศรีอยุธยา

พระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญของ "เกษตรกรรม" ไทยมากเป็นพิเศษ เพราะทรงเข้าใจพื้นหลังและสภาพความเป็นจริงของชนชาติไทย และภูมิประเทศที่เอื้อกับการเกษตรมากกว่าอุตสาหกรรม โครงการตามพระราชดำริส่วนใหญ่จึงเป็นโครงการพัฒนาลุ่มน้ำ กักเก็บแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และเป็นโครงการส่งเสริมด้านการเกษตร ซึ่งน่าเสียดายที่รัฐบาลไทยหลายสมัยไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้เท่าที่ควร ประชาชนส่วนใหญ่ที่เคยทำงานด้านการเกษตรก็ทิ้งเรือสวนไร่นาไปอยู่โรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจการเกษตรก็ตกไปอยู่ในอุ้งมือนายทุนใหญ่ไม่กี่ราย ซึ่งเขาสามารถกำหนดราคาสินค้าในตลาด ควบคุมการกินของคนไทยได้สำเร็จ

หลายคนอาจมองว่าดี แต่สำหรับผมแล้วการผูกขาดการค้าโดยนายทุนไม่เคยมีคำว่าดีสักนิด พระเจ้าอยู่หัวทรงส่งเสริม "สหกรณ์ชุมชน" เพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากและสร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชนโดยไม่ต้องพึ่งพานายทุน แต่ปัจจุบันสหกรณ์ชุมนุมกลายเป็นเพียงทฤษฎีในตำรา ที่ประสบความสำเร็จก็จะต้องใช้เวลาหลายปี อีกทั้งการไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่องความรู้ความเข้าใจ จึงทำให้ "นายทุนการเกษตร" เข้ามาครอบครองส่วนแบ่งการตลาดจากสหกรณ์ของประชาชนไปเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

โดยที่นายทุนนั้นก็อิงแอบกับภาคการเมืองเพื่อให้ "เดินสะดวก" ในการทำธุรกิจ มันจึงกลายเป็นวัฏจักรที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่หายนะในไม่ช้า

และทันทีที่บ้านเมืองเกิดหายนะทางเศรษฐกิจรวมทั้งความเชื่อมั่นของคนในชาติที่ลดลงกับการเมืองก็จะหันไปมอง "เบ็ดตกปลา" ของพระเจ้าอยู่หัวอีกครั้ง โดยที่ไม่รู้ตัวและสำนึกตัวว่า "สายไปเสียแล้ว" ที่เราจะไปหยิบเบ็ดตกปลานั้นมาใช้ !!!

บทความจาก คุณพุทธมนต์ คคนัมพร

3 ความคิดเห็น:

  1. โดยที่นายทุนนั้นก็อิงแอบกับภาคการเมืองเพื่อให้ "เดินสะดวก" ในการทำธุรกิจ มันจึงกลายเป็นวัฏจักรที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่หายนะในไม่ช้า

    และทันทีที่บ้านเมืองเกิดหายนะทางเศรษฐกิจรวมทั้งความเชื่อมั่นของคนในชาติที่ลดลงกับการเมืองก็จะหันไปมอง "เบ็ดตกปลา" ของพระเจ้าอยู่หัวอีกครั้ง โดยที่ไม่รู้ตัวและสำนึกตัวว่า "สายไปเสียแล้ว" ที่เราจะไปหยิบเบ็ดตกปลานั้นมาใช้ !!!


    ชอบมากค่ะ สื่อให้เห็นว่าปัจจุบันนี้ เป็นอย่างไร ??

    ตอบลบ
  2. ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

    ตอบลบ